Friday, October 23, 2009

ทำอย่างไรให้เลิกยึกๆยักๆ

การทำให้คนหนึ่งคนเลิกยึกๆยักๆ คงจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนสำหรับคนคนนั้น ถ้าคนจำนวนมากเลิกยึกๆยักๆ ก็น่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในสังคมที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนสำหรับสังคมนั้นๆ แต่ผลลัพธ์จะดีหรือชั่วข้าพเจ้าไม่รู้ เดาเอาว่าคงเป็นทางดี
มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงธรรมที่ทำให้งานสำเร็จคืออิทธิบาท๔ ก่อนที่จะเจาะจงไปในการแก้ปัญหายึกๆยักๆได้ ข้าพเจ้าไปคัดลอกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

อิทธิบาท๔ (คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย - path of accomplishment; basis for success)
๑. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป - will; aspiration)
๒. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย - energy; effort; exertion)
๓. จิตตะ (ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป - thoughtfulness; active thought)
๔. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่ง ที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น - investigation; examination; reasoning; testing)


อย่าไปพูดถึงข้ออื่นให้เสียเวลาถ้าบุคคลไม่มีฉันทะ เราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรคนหนึ่งมีฉันทะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้? ตามประโยคด้านบนนั้นข้าพเจ้าคิดว่าการมีฉันทะคือมีความใฝ่ใจรัก ดังนั้นการวิริยะในความหมายของอิทธิบาท๔คือต้องมีความเพียรในสิ่งที่ใฝ่ใจรัก ถ้าทำสิ่งใดเพราะโดนสภาพแวดล้อมบังคับล้วนๆข้าพเจ้าเดาว่าไม่ใช่วิริยะในความหมายนี้
จะมีอะไรที่ช่วยสร้างฉันทะ ปัจจัยภายนอกควรจะมีกัลยาณมิตร ปัจจัยภายในควรจะมีโยนิโสมนสิการ ขออ้างอิงแหล่งความรู้เดิมดังนี้

กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
“อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
“ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ


โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดย อุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย - reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น - instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ - fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ - contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา - awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม - pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ - possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว - self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ - possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ - possession of earnestness)

ถึงตรงนี้ข้าพเจ้ากลัวว่าผู้อ่านจะเลิกอ่านบทความของข้าพเจ้า จึงขอกล่าวถึงเรื่องเดียวกันในอีกมุมมองหนึ่ง ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือชื่อ การตลาดเพื่อสังคม ของคุณพรทิพย์ สัมปัตตะวนิช ได้อ้างอิงถึง Robinson, L. (1998). A 7 Steps Social Marketing Approach. พูดถึงขั้นตอน ๗ ขั้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม ข้าพเจ้าอ่านแล้วคิดว่า มันก็คือการทำให้เลิกยึกๆยักๆนั่นเอง ดังนี้
ขั้นที่๑ Knowledge – “I know/I should”
ขั้นที่๒ Desire – “I want to”
ขั้นที่๓ Skills – “I can”
ขั้นที่๔ Optimism – “It’s worth”
ขั้นที่๕ Facilitation – “It’s easy”
ขั้นที่๖ Stimulation – “I’m joining in”
ขั้นที่๗ Reinforcement – “That was a success”

รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าอยากจะบรรยายไปพร้อมๆกับเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าประสบพบมา ซึ่งคงจะต้องเป็นครั้งต่อไป เพราะครั้งนี้รู้สึกว่ายาวเกินไปเสียแล้ว

เขียน ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่เชียงใหม่พลาซ่า

1 comment:

  1. good อ่านแล้วรู้สึกดีๆ


    เขม

    ReplyDelete