Wednesday, October 14, 2009

กล้วย ที่ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ

(ข้าพเจ้าไม่ใช่หน้าม้าของคุณเขมชาติแต่อย่างใด แต่ข้าพเจ้าอ่านเรื่องของคุณเขมชาติแล้วจึงไปค้นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Gros Michel ในอินเตอร์เน็ต เผอิญว่าเจอบทความที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาลงให้อ่านกัน – ท่านผู้อ่านควรอ่านบทความของคุณเขมชาติก่อน แล้วจึงอ่านบทความนี้ตาม เมื่ออ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง สำหรับข้าพเจ้าแล้วรู้สึกเหมือนตอนสอบวิชาแคลคูลัสเสร็จ)

กล้วย ที่ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ


โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

พวกเราคนไทยคงเคยสงสัยเหมือนกันว่า เหตุใดจึงไม่มีการส่งออกกล้วยที่ปลูกได้ง่ายดายและมีหลากหลายพันธุ์ มีปริมาณมาก มายในบ้านเราไปขายในต่างประเทศบ้าง

เลิกสงสัยเถอะครับ เพราะตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่เป็นตลาดกล้วยใหญ่ที่สุดในโลก เขาบริโภคกันอยู่พันธุ์เดียวคือพันธุ์ CAVEN DISH ซึ่งมีหน้าตาและรสชาติคล้ายกล้วยหอมแต่ไม่เหมือนกล้วยหอม

พันธุ์กล้วยทั้งโลกมีอยู่มากกว่า 500 พันธุ์ ในบ้านเราที่รสชาติดี และเป็นที่ถูกใจคนไทยก็คือ กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก (ไว้ปิ้ง) ฯลฯ

แต่ถึงจะอร่อยอย่างไรก็ไม่ถูกลิ้นตลาดข้างต้น ซึ่งเคยชินกับหน้าตาและรสชาติของพันธุ์ CAVENDISH จนไม่สนใจพันธุ์อื่น

กล้วยที่คนอเมริกันบริโภคมูลค่าปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เรียกได้ว่าเป็นพันธุ์ CAVENDISH เกือบทั้งหมดโดยนำเข้าจากอเมริกาใต้ จะมีพันธุ์แปลกหลุดเข้ามาขายบ้าง ก็เฉพาะในเขตเมืองที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่เท่านั้น

แหล่งที่มาของกล้วยพันธุ์ CAVENDISH ที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาในแต่ละปี มาจากหลายประเทศในอเมริกาใต้มูลค่า 290.6 ล้านเหรียญ มาจากเอกกัวดอร์ 258.1 ล้านเหรียญ มาจากกัวเตมาลา 249.9 ล้านเหรียญ จากคอสตาริกา 186.5 ล้านเหรียญ จากโคลัมเบีย และ 119.7 ล้านเหรียญจากฮอนดูรัส

ถ้าพิจารณาแหล่งการผลิตกล้วยในโลกแล้ว ก็จะแปลกใจเพราะปริมาณกล้วยส่วนใหญ่ในโลกในแต่ละปี ผลิตในเอเชีย แต่มีการส่งออกไปสองตลาดใหญ่มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ ในจำนวนกล้วยประมาณ 17 ล้านตันที่ผลิตในโลกในแต่ละปี ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ผลิตในอินเดียและจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิน เดีย) ประมาณ 5-6 ล้านตันเท่านั้นที่ผลิตในอเมริกาใต้

การปลูกกล้วยส่งออกนั้นไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ แม้แต่น้อย การเพาะปลูกและ การเก็บเกี่ยวเป็นปัญหา เพราะจะต้องตัดในเวลาที่พอเหมาะ นำมาผ่านกระบวนการเพาะบ่ม ฆ่าเชื้อรา บรรจุในกล่อง และถึงที่หมายอย่างสุกงอมได้ที่

กระบวนการนี้ต้องการความรู้ และเทคโนโลยีที่จะได้มาจากบริษัทใหญ่ของต่างประเทศ ที่ได้มาลงทุนในประเทศละตินอเมริกา ยาวนานแล้ว

ดังนั้น รสนิยมของผู้บริโภคในสองตลาดนี้ จึงถูกกำกับโดยความเคยชินที่ผูกโยง กับประวัติศาสตร์ของการเพาะปลูก กล้วยอย่างเป็นระบบโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ (ช่างน่าสงสารผู้บริโภคเหล่านี้เสียนี่กระไร ที่ขาดโอกาสรู้จักกล้วยเล็บมือนาง กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า)

กล้วยมากมายหลากหลายพันธุ์นั้น มีที่บริโภคได้อยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น พันธุ์อื่นๆ เต็มไปด้วยเมล็ดรสชาติขื่นขม มียางหรือลูกเล็กมาก และปอกเปลือกไม่ได้ง่าย พันธุ์ที่บริโภคได้นี้ได้ผ่านการคัดสรรพันธุ์ที่มีแววพอที่จะบริโภคได้ อย่างมีความสุขมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เลือกให้มันขยายพันธุ์ด้วยหน่อ แทนที่จะเป็นเมล็ด ที่เกิดขึ้นจากการผสมของเกสรตัวผู้ และตัวเมียของต้นกล้วยข้างเคียงกัน และด้วยสาเหตุนี้แหละ ที่ทำให้การปลูกกล้วยในระบบสวนไร่ มีปัญหาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

กล้วยพันธุ์เหล่านี้ถูกโรคระบาดได้โดยง่าย เมื่อมันมาครั้งหนึ่งก็จะล้างพันธุ์ไปหมดเลย ทั้งนี้เพราะไม่มีการผสมข้ามพันธุ์ เนื่องจากใช้หน่อขยายพันธุ เมล็ดที่มีก็เล็กลีบจนไม่อาจสืบพันธุ์ต่อไปได้ การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการต่อต้านเชื้อโรค จึงมีต่ำ ซึ่งแตกต่างจากกล้วยป่าที่มีเมล็ดตามธรรมชาติ และขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ จึงมีความสามารถในการปรับตัวได้สูงกว่ามาก

ตัวอย่างก็คือการระบาดของเชื้อโรค PANAMA DISEASE ในกล้วยพันธุ์ GROS MICHEL ในทศวรรษ 1950 และ 1960 ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมจนล้างพันธุ์ไป และได้พันธุ์ CAVENDISH ที่หลุดรอดจากโรคนี้มาแทนที่ ถึงแม้จะหวานน้อยกว่าก็ตาม

โรคร้ายที่ระบาดในกล้วยไปทั่วโลกในขณะนี้ก็คือ BLACK SIGATOKA ซึ่งเป็นเชื้อราที่โจมตีใบจนผลผลิตลดลงไปถึงร้อยละ 30 ถึง 80 ในบางกรณี โรคนี้ป้องกันได้โดยการพ่นยาฆ่าเชื้อรา แต่ทั้งโลกก็ใช้วิธีนี้เพียงร้อยละ 14 ของผลผลิตกล้วยทั้งโลก กล้วยส่วนใหญ่ที่ปลูกไว้กินตามบ้านไม่มีการพ่นยาฆ่าเชื้อจึงเสี่ยงต่อการสูญเสียอยู่ไม่น้อย

ล่าสุดเชื้อโรคกลายพันธุ์จาก PANAMA DISEASE ที่ล้างพันธุ์ GROS MICHEL ไปกำลังโจมตีกล้วยที่ราก ซึ่งป้องกันด้วยการพ่นยาไม่ได้ อย่างไรก็ดี โรคนี้ยังไปไม่ถึงอเมริกาใต้ จึงยังไม่ถึงพันธุ์ CAVENDISH ที่แรงงานสนับสนุนการปลูกเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรจำนวนมาก การอาจถูกคุกคามของโรคนี้ทำให้อนาคตของกล้วยพันธุ์นี้ไม่สดใสนัก

มีความพยายามที่จะพัฒนาพันธุ์กล้วยใหม่ที่ต้านเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี เพราะการใช้ยาพ่นฆ่าเชื้อไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน แต่ก็เป็นงานที่ยากเพราะกล้วยนั้นต้องช่วยเหลือโดยมนุษย์จึงจะมีการผสมของเกสรตัวผู้และตัวเมียอย่างมีประสิทธภาพ โดยแท้จริงแล้วสถาบันวิจัยกล้วยบางแห่งได้ผลิตกล้วยพันธุ์ใหม่ที่ต้านเชื้อได้สำเร็จ แต่รสชาติยังเป็นปัญหาพันธุ์หนึ่งนั้นผลิตกล้วยที่มีรสชาติเหมือนแอปเปิ้ล!
นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ต้องการสร้างกล้วยพันธุ์ใหม่แบบ GMO (แก้ไขรหัสพันธุกรรมเลยเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ) แต่ก็ลังเลเพราะคาดว่าการตอบรับกล้วยพันธุ์ใหม่นี้คงจะไม่ง่ายนัก

เพราะความกลัว GMO ยังมีอยู่มาก

สำหรับบ้านเราการส่งออกกล้วยไปแข่งกับกลุ่มละตินอเมริกา เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในระยะเวลาปานกลาง
อย่างไรก็ดี การพัฒนาตลาดใหม่ในเวลาอันควรในซีกอื่นของโลก ด้วยการส่งออกกล้วยที่เราถนัดในการผลิต มีความเป็นไปได้มากกว่า ถ้าเรามีการค้นคว้ากันอย่างกว้างขวางกว่าในปัจจุบัน อย่ามองว่า กล้วยเป็นเพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น กล้วยสามารถพัฒนาเป็นไม้ประดับสวยงาม และประหลาดขนาดเล็กก็ได้ ดังที่มีการพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่คนไทย มีความสามารถในการผลิตชนิดได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ (COMPARATIVE ADVANTAGE) มายาวนานถึงแม้ว่าโดยเฉลี่ยภาคเกษตรของไทยจะมีผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ (PRODUCTIVITY) ต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ฯลฯ และมีการเปลี่ยนแปลงในผลิตภาพระหว่าง 1995-1999 ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ก็ตาม แต่เราก็ไม่ควรละทิ้งภาคเกษตร เพราะนอกจากสามารถผลิตอาหารให้ประชากรแล้ว ยังทำหน้าที่เสมือนเบาะรับการล้นของแรงงานจากภาคอุตสาห กรรมอีกด้วย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540-2543

กล้วยไทยเกือบทั้งหมดในปัจจุบันผลิตโดยเกษตรรายย่อย เพื่อการบริโภคในประเทศ เท่าที่ทราบยังไม่เคยมีการประเมินผลิตภาพ ในการผลิตกล้วยในบ้านเรา แต่เชื่อว่าคงไม่สูงนัก การค้นคว้าวิจัยในเรื่องพันธุ์กล้วย และการพัฒนาเป็นอาหารของบ้านเราในหลายรูปแบบตลอดจนการพัฒนา SME"S CLUSTER รอบการผลิตกล้วยเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากต้องการหาประโยชน์จากผลไม้ที่คนไทยรู้จักและพึ่งพิงกันมายาวนาน

เมือพูดถึงกล้วยและวิชาการก็ให้นึกถึงคำพูดของนักวิชาการต่างประเทศที่โยงใยผู้จบปริญญาเอก แล้วมิได้ศึกษาวิจัย ผลิตงานวิชาการสำคัญออกมาอีกเลยนับแต่ได้ทำวิทยา นิพนธ์แล้ว ว่าป็น "DR.BANANA"

เพราะต้นกล้วยนั้นมีผลออกมาครั้งเดียว แล้วก็ตายเลย

1 comment:

  1. เรากินกล้วยหอมที่นี่ ไม่เห็นรู้ความแตกต่างระหว่างกล้วยหอมไทย กับที่นี่เลยวะ แต่อาจจะจริง เปลือกทีนี่อาจจะหนาหว่านิดหน่อย หวานไม่เท่าเมืองไทย

    ReplyDelete